วันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2559

อาณาจักรหริภุญชัย

อาณาจักรหริภุญชัย

อาณาจักรหริภุญชัย หรือ หริภุญไชย เป็นอาณาจักรมอญที่ตั้งอยู่บริเวณภาคเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน ตำนานจามเทวีวงศ์โบราณได้บันทึกไว้ว่า ฤๅษีวาสุเทพเป็นผู้สร้างเมืองหริภุญชัยขึ้นในปี พ.ศ. 1310 แล้วทูลเชิญพระนางจามเทวี ซึ่งเป็นเจ้าหญิงจากอาณาจักรละโว้ ขึ้นมาครองเมืองหริภุญชัย ในครั้งนั้นพระนางจามเทวีได้นำพระภิกษุ นักปราชญ์ และช่างศิลปะต่าง ๆ จากละโว้ขึ้นไปด้วยเป็นจำนวนมากราวหมื่นคน พระนางได้ทำนุบำรุงและก่อสร้างบ้านเมือง ทำให้เมืองหริภุญชัย (ลำพูน) นั้นเป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมที่เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ต่อมาพระนางได้สร้างเขลางค์นคร (ลำปาง) ขึ้นอีกเมืองหนึ่งให้เป็นเมืองสำคัญ สมัยนั้นปรากฏมีการใช้ภาษามอญโบราณในศิลาจารึกของหริภุญชัย มีหนังสือหมานซูของจีนสมัยราชวงศ์ถัง กล่าวถึงนครหริภุญชัยไว้ว่าเป็น “อาณาจักรของสมเด็จพระราชินีนาถ” (女王國 หนี่ว์ หวัง กว๋อ )
ต่อมา พ.ศ. 1824 พญามังรายมหาราชผู้สถาปนาอาณาจักรล้านนา ได้ยกกองทัพเข้ายึดเอาเมืองหริภุญชัยจากพญายีบาได้ ต่อจากนั้นอาณาจักรหริภุญชัยจึงสิ้นสุดลงหลังจากรุ่งเรืองมา 618 ปี มีพระมหากษัตริย์ครองเมือง 49 พระองค์
ปัจจุบัน โบราณสถานสำคัญของอาณาจักรหริภุญชัยคือพระธาตุหริภุญไชย ที่จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นบริเวณที่สันนิษฐานว่าเป็นราชธานีในสมัยนั้น และยังมีเมืองโบราณเวียงมโน ตำบลหนองตอง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ โบราณสถานที่เวียงเกาะ บ้านสองแคว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และเวียงท่ากาน ที่ตำบลบ้านกลาง ต.สันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ บางหมู่บ้านของจังหวัดลำพูนนั้นพบว่า ยังมีคนพูดภาษามอญโบราณและอนุรักษ์วัฒนธรรมอาณาจักรมอญโบราณอยู่

อาณาจักรตามพรลิงค์

อาณาจักรตามพรลิงค์

อาณาจักรตามพรลิงค์ (สันสกฤต: ตามฺพฺรลิงฺค; ताम्ब्रलिङ्ग) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น อาณาจักรนครศรีธรรมราช นั้น เป็นอาณาจักรโบราณที่มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธศตวรรษที่ 7  มีศูนย์กลางอยู่ที่นครศรีธรรมราชในปัจจุบัน (อาจจะเป็นบริเวณบ้านท่าเรือ หรือบ้านพระเวียง) อยู่ทางด้านเหนือของอาณาจักรลังกาสุกะ (บริเวณปัตตานี) มีอาณาเขตทางตะวันออก และตะวันตกจรดทะเลอันดามันถึงบริเวณที่เรียกว่าทะเลนอก ซึ่งเป็นบริเวณจังหวัดกระบี่ในปัจจุบัน คำว่า "ตามพ" เป็นภาษาบาลี แปลว่า ทองแดง ส่วน "ลิงค์" เป็นเครื่องหมายบอกเพศ เขียนเป็นอักษรภาษาอังกฤษว่า Tambalinga หรือ Tanmaling หรือ Tamballinggam จีนเรียก ตันเหมยหลิง หรือโพ-ลิง หรือโฮลิง (แปลว่าหัวแดง) บางทีเรียกว่า เชียะโท้ว (แปลว่าดินแดง) อาณาจักรตามพรลิงค์ มีกษัตริย์สำคัญคือ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช และ พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราช
อาณาจักรตามพรลิงค์นี้เป็นเส้นทางการเผยแพร่พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ไปยังอาณาจักรสุโขทัยและดินแดนทั่วแหลมมลายู เนื่องจากอาณาจักรตามพรลิงค์กับศรีลังกามีความสัมพันธ์แบบบ้านพี่เมืองน้องมาแต่สมัยโบราณ

พัฒนาการของการเกิดเมืองสำคัญต่างๆ ในอาณาจักรตามพรลิงค์

อาณาจักรตามพรลิงค์ มี เมืองรอง ที่สำคัญ อยู่ 2 เมือง เมืองแรกคือ เมืองไชยา ตั้งอยู่ถัดไปทางด้านใต้ ศูนย์กลางอยู่ ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี กำเนิดขึ้นพร้อมๆ กับเมืองตามพรลิงค์ ในระยะแรกต่างเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อกัน ต่อมาในยุคหลังเมืองไชยากลับขึ้นกับอาณาจักรตามพรลิงค์ในฐานะเมืองอุปราช และคงจะอยู่ในฐานะดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองที่สอง คือ เมืองสทิง คือ บริเวณโดยรอบทะเลสาบสงขลาจังหวัดสงขลาและพัทลุง ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเมือง นครศรีธรรมราช ในสมัยอยุธยา เมืองบริวาร ได้แก่ เมืองสิบสองนักษัตร ที่ปรากฏในตำนานเมือง นครศรีธรรมราช ซึ่งปัจจุบันตราสิบสองนักษัตร ได้เป็นตราประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่
ตราประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช
  1. เมืองสายบุรี ปีชวด ถือตราหนู
  2. เมืองปัตตานี ปีฉลู ถือตราวัว
  3. เมืองกะลันตัน ปีขาล ถือตราเสือ
  4. เมืองปะหัง ปีเถาะ ถือตรากระต่าย
  5. เมืองไทรบุรี ปีมะโรง ถือตรางูใหญ่
  6. เมืองพัทลุง ปีมะเส็ง ถือตรางูเล็ก
  7. เมืองตรัง ปีมะเมีย ถือตราม้า
  8. เมืองชุมพร ปีมะแม ถือตราแพะ
  9. เมืองไชยา(บันไทยสมอ) ปีวอก ถือตราลิง
  10. เมืองท่าทอง(สะอุเลา) ปีระกา ถือตราไก่
  11. เมืองตะกั่วป่า-ถลาง ปีจอ ถือตราสุนัข
  12. เมืองกระบี่ ปีกุน ถือตราหมู

ความสัมพันธ์กับอาณาจักรอื่น

อาณาจักรฟูนัน

อาณาจักรตามพรลิงค์ เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรฟูนัน ต่อมาใน พ.ศ. 1318 อาณาจักรตามพรลิงค์และเมืองไชยาได้กลายมาเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัย และพ.ศ. 1568 ได้ถูกอาณาจักรโจฬะยกกองทัพเรือเข้ายึดครอง ในปีพ.ศ. 1658 ได้มีการส่งคณะทูตไปเฝ้าฮ่องเต้จีนราชวงศ์ซ้อง ที่เมืองไคฟง

อาณาจักรเขมร

อาณาจักรตามพรลิงค์ได้ส่งไพร่พลไปช่วยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สร้างเมืองนครธม พ.ศ. 1813อาณาจักรตามพรลิงค์ได้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของอาณาจักรลังกาสุกะ และ พ.ศ. 1893 เมืองนครศรีธรรมราชได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา
เมืองนครศรีธรรมราชในระยะแรก ประกอบด้วยเมืองสำคัญ 12 เมือง คือ สายบุรี ปัตตานี กลันตัน ปาหัง ไทรบุรี พัทลุง ตรัง ชุมพร บันทายสมอ สงขลา ตะกั่วป่า และครหิหรือกระบุรี ใช้สัตว์ประจำปีเป็นตราประจำเมือง เช่น สายบุรีใช้ตราหนู ปัตตานีใช้ตราวัว กลันตันใช้ตราเสือ ปาหังใช้ตรากระต่าย เรียงลำดับไป สำหรับเมืองบันไทสมอ ซึ่งใช้ตราลิงนั้น นักโบราณคดีบางท่าน เช่น หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี สันนิษฐานว่าอยู่ที่เมืองกระบี่ ซึ่งอาจเป็นที่มาของชื่อเมืองกระบี่ในปัจจุบัน

จีน

ในจดหมายเหตุจีน ระบุว่า นครโฮลิง(ตามพรลิงค์) ส่งทูตไปเฝ้าฮ่องเต้จีน ใน พ.ศ. 1291,1310,1311,1356,1358 และ พ.ศ. 1361
ต่อมาได้มีการเรียกชื่อ อาณาจักรตามพรลิงค์ ใหม่ว่า อาณาจักรศิริธรรม ภายหลังเมื่ออยู่ในอำนาจอาณาจักรสุโขทัย ได้เปลี่ยนมาเป็น เมืองศรีธรรมราช จากหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานว่า นิกายเถรวาทนับถือกันมากที่สุด

อาณาจักรลังกาสุกะ

อาณาจักรลังกาสุกะ

อาณาจักรลังกาสุกะ (พุทธศตวรรษที่ 7–23) อาณาจักรลังกาสุกะแห่งนี้ได้ตั้งขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 7 แล้วเจริญรุ่งเรืองในพุทธศตวรรษที่ 11 ขณะที่อาณาจักรฟูนันเริ่มเสื่อมอำนาจลงอาณาจักรลังกาสุกะตั้งอยู่ทางใต้ของอาณาจักรตามพรลิงก์ในคาบสมุทรมลายู บริเวณมัสยิดแห่งกรือเซะ ในบริเวณที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างอำเภอเมืองปัตตานีกับอำเภอยะหริ่ง และบริเวณอำเภอยะรัง ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปัตตานี พวกชวาเรียก “นครกีรติกามา” มีอาณาเขตครอบคลุมถึงทางเหนือตะกั่วป่าและตรัง ทางใต้ตลอดแหลมมลายู ลังกาสุกะมีการติดต่อกับจีนใน พ.ศ. 1052 ตามจดหมายเหตุจีนระบุว่า “เป็นเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบ กษัตริย์ประทับอยู่บนกูบช้างมีหลังคาทำด้วยผ้าสีขาว แวดล้อมด้วยองครักษ์ที่มีท่าทางดุร้าย และทหารตีกลองถือธงสีต่าง ๆ ประชาชนทั้งชายหญิงไว้ผมปล่อยยาว ใส่เสื้อไม่มีแขน” อาณาจักรลังกาสุกะนี้ ถูกอาณาจักรฟูนันโจมตีในพุทธศตวรรษที่ 11 แล้วกลายเป็นเมืองขึ้นต่อมา

อาณาจักรโบราณ

ลังกาสุกะเป็นนครรัฐตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7 รุ่งเรืองยาวนานถึง 1,400 ปี จึงเสื่อมสลายไป ไม่ใช่เพราะถูกอำนาจใดเข้าตี หากแต่ทะเลถอยห่างตัวเมืองออกไปทุกที จนผู้คนพากันทิ้งเมือง ซั้าโดนน้ำท่วมโคลนถมทับตัวเมืองแทบหมด เพิ่งขุดเจอซากไม่นานมานี่เอง เชื่อกันว่าคนในหมู่บ้านกาแลจิน อ.เมืองปัตตานีปัจจุบันคือผู้สืบเชื้อสายชาวเมืองลังกาสุกะ ที่เป็นลูกครึ่งชาวจีนกับคนพื้นเมืองที่ต้องทิ้งเมืองเก่ามาอยู่ในปัตตานีเมื่อ 1,000 กว่าปีที่แล้ว
อาณาจักรโบราณยิ่งใหญ่ที่เชื่อว่ามีพื้นที่คลุมไปถึงตอนเหนือมาเลเซีย เพราะพบสิ่ง ก่อสร้างโบราณ แบบเดียวกับที่พบในปัตตานีแถวริมฝั่งแม่น้ำบูจังและปาดังลาวาส (ปากแม่น้ำลาวาส) ในรัฐเคดาห์ หนังสือเหล่านั้นเรียกอย่างจืดชืดไม่ดึงดูดใจสักนิดว่า "เมืองโบราณยะรัง" เพราะซากเมืองเก่าพบที่ อ.ยะรัง ทั้งที่มีความเก่าแก่รุ่งเรืองมาก่อน อาณาจักรศรีวิชัยและอาณาจักรทวาราวดีตั้ง 500 ปี ศรีวิชัยและทวาราวดีตั้งในพุทธศตวรรษที่ 12 ลังกาสุกะเป็นนครรัฐที่โลกตะวันตกตะวันออก รู้จักกันแล้ว ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7 เมืองโบราณยะรังจึงไม่ใช่เมืองเก่าธรรมดา หากแต่เป็นเมืองท่านครรัฐยิ่งใหญ่ สมัยโบราณเก๋ากึ๊กในภูมิภาคนี้โดยแท้
เมืองโบราณที่ กรมศิลปากร กำลังขุดแต่งอยู่ที่ อำเภอยะรัง ในขณะนี้คือ ศูนย์การปกครอง อาณาจักรลังกาสุกะ ในเมื่อบันทึก ชาวอินเดียและ ชาวอาหรับ ที่เรียกเมืองนี้ว่า "ลังกาสุกะ" กับบันทึก ของชาวจีนที่เรียก "หลาง หย่า ซุ่ย" ล้วนระบุทิศทางและ ที่ตั้งตรงกันหมด น.ส.พรทิพย์ พันธุโกวิท หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ โบราณคดี ผู้ควบคุมการขุดแต่งและ บูรณะมาตั้งแต่แรกถึง 16 ปี อธิบายว่า ปัตตานีวันนี้คือ ดินแดนเกิดใหม่ เมื่อทะเลถอย ห่างฝั่งออกไปทุกที ลังกาสุกะเลยกลายเป็น เมืองภายในแผ่นดิน อยู่ห่างชายฝั่งทะเล ในวันนี้เกือบ 25 กม. ชายฝั่งบริเวณท่าเรือใหญ่ครั้งโน้น ปัจจุบันนี้คือ คลองปาเละหมู่บ้านกาแลบูซา (ท่าเรือใหญ่) หมู่บ้านเทียระยา (หมู่บ้านเสากระโดงเรือ) ต.ตันหยงลูโละ อ.เมือง ปัตตานี
ร่องรอยทางโบราณคดี ชี้ให้เห็นว่ามีลักษณะเป็นเมืองเรียงกันถึง 3 เมืองด้วยกัน ได้แก่ เมืองที่กำลังขุดอยู่ที่บ้านวัด บ้านจาเละ และบ้านปราแว (พระราชวัง) อำเภอยะรัง บ้านปราแวอยู่ริมทะเล มีลักษณะ ค่ายคูประตูหอรบตามมุมเมือง คาดว่าน่าจะเป็นประชาคม 3 แห่ง ที่อยู่ร่วมกันมากกว่าเมือง โดยรวมแล้วพื้นที่ดังกล่าวนี้ พบร่องรอยทางโบราณคดีถึงกว่า 40 แห่ง ลงมือขุดไปเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ชิ้นใหญ่ ๆ ที่กำลังขุดอยู่เป็นศาสนสถานใน ศาสนาพราหมณ์และ พุทธศาสนา ทั้งพบคำจารึกภาษาปัลลวะอินเดียโบราณและภาษาสันสกฤตด้วย บ่งบอกอย่างเด่นชัด แรกเริ่มนั้นชาวลังกาสุกะนับถือศาสนาพราหมณ์ เปลี่ยนมาถือพุทธ แล้วเปลี่ยนมาเป็นอิสลามตามลำดับ
ลังกาสุกะเฟื่องเนื่องมาจากที่ตั้งเป็นกึ่งกลางเส้นทางค้าขายโลกตะวันตกและตะวันออก เป็นศูนย์กลางการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและศูนย์ค้าเครื่องเทศสินค้าสำคัญของภูมิภาคนี้ ที่ดังที่สุด ได้แก่ไม้หอม และกำยาน ซึ่งอินเดีย อาหรับยันยุโรปต่างต้องการอย่างมาก น่าเชื่อว่ากำยานชั้นดีที่สุดเป็นกำยานลังกาสุกะ เพราะเครื่องหอมทำจากกำยานที่โลกอาหรับ และชาติมุสลิมใช้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นเครื่องหอม ที่ไม่มีแอลกอฮอล์เจือปนไม่ผิด หลักทางศาสนาที่ชื่อว่า "ไซมีส เบนโซอีน" ที่ยังใช้กันมาจนทุกวันนี้ ลังกาสุกะเป็นท่าเรือ ส่งออกที่ใหญ่มาก
ลังกาสุกะอาจเป็นอาณาจักรเดียวในโลกที่ล่มสลายไปไม่ใช่เพราะการสงครามหรือโรคระบาด หากเกิดจากทะเลถอยห่างออกไปเรื่อย ๆ เมื่อไม่สามารถทำมาหากินได้เหมือนเดิม ผู้คนก็อพยพทิ้งบ้านทิ้งเมืองไปอยู่ที่อื่นกันหมด พร้อม ๆ กับอาณาจักรอื่นใกล้เคียงเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่

ศูนย์กลางอาณาจักรลังกาสุกะ

อาณาจักรลังกาสุกะเป็นอาณาจักรโบราณ มีศูนย์กลางตั้งอยู่บริเวณ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี มีอาณาเขตปกครองกว้างขวางครอบคลุมคาบสมุทรมลายูตอนล่างทั้งหมดโดยพัฒนามาจากเมืองท่าเล็กๆ ของชาวพื้นเมืองจนเติบโตเป็นรัฐและมีฐานะเป็นอาณาจักรมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7 เป็นศูนย์กลางการค้าและศาสนา จนได้ล่มสลายไปในต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ปัจจุบันปรากฏร่องรอยศาสนสถานประเภทสถูปเจดีย์ขนาดใหญ่ จำนวน 33 แห่ง ในพื้นที่ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตร

จากตำนานและจดหมายเหตุ

จากตำนาน ไทรบุรี ปัตตานี กล่าวถึงเมืองลังกาสุกะ ของพระเจ้ามะโรงมหาวงศ์หรือราชามารงมหาวังสา ต่อมาคำว่าลังกาสุกะค่อย ๆ เลือนหายไป กลายเป็นคำว่าปัตตานีดารุสสาลามเข้ามาแทนที
จดหมายเหตุราชวงศ์เหลียง (พ.ศ. 1045-1099) บันทึกไว้ว่าอาณาจักรลังกาสุกะ สถาปนาขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 7 มีอำนาจปกครองระหว่างสองฝั่งทะเล คือด้านตะวันตกจรดไทรบุรี และด้านตะวันออกที่ปัตตานีข้อความในจดหมายเหตุนี้สอดคล้องกับตำนานไทรบุรี ปัตตานี
ปอล วิดลีย์ (Paul Wheatly) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแหลมมาลายู มีความเห็นว่าตำนานไทรบุรี ฯมีลักษณะเหมือนเทพนิยาย แต่งขึ้นเมื่อชาวอินเดียเดินทางมาถึงหัวเมืองมาลายูราวพุทธศตวรรษที่ 6 และเขาแสดงความคิดเห็นไว้ว่า ลังกาสุกะ ไม่ควรไปซ้ำซ้อนกับไทรบุรีน่าจะอยู่ทางปัตตานีทั้งหมด
ดี.จี.อี. ฮอลล์ (D.G.E. Hall) ได้กล่าวถึงรัฐเก่าแก่สามรัฐในแหลมมาลายู คือรัฐหลังสยิว (ลังกาสุกะ) ตันหม่าหลิง (ตามพรลิงก์ หรือนครศรีธรรมราช) ตักโกลา (ตะกั่วป่า) ต่อมารัฐทั้งสามนี้ตกอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรฟูนันซึ่งเป็นอาณาจักรที่มีกองเรือยิ่งใหญ่ อยู่ในทะเลจีนตอนใต้ เมื่อตกอยู่ใต้อำนาจแล้วก็รับเอาวัฒนธรรมต่างๆ มาจากอินเดีย
ต่อมาพุทธศตวรรษที่ 11 อาณาจักรฟูนันเสื่อมสลายลง รัฐต่าง ๆ ที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลก็แยกตัวเป็นอิสระ ลังกาสุกะภายใต้การนำของพระเจ้าภคทัตก็ฟื้นฟูอำนาจของตนเองได้อย่างรวดเร็ว
พุทธศตวรรษที่ 14-15 ลังกาสุกะกลับตกอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรศรีวิชัย พระเจ้าราเชนทร์โจระที่ 1 แห่งอินเดีย ยกทัพเรือข้ามมายึดรัฐต่าง ๆของศรีวิชัย ลังกาสุกะก็พลอยถูกยึดไปด้วย ต่อมาอีกอาณาจักรมัชปาหิตแห่งชวากลับเข้ามามีอำนาจ และชื่อลังกาสุกะค่อยเลือนจางหายไปแสดงว่าอาณาจักรลังกาสุกะนั้นอยู่ที่ปัตตานีนี่เอง และต้องนับถือพุทธศาสนาด้วยเพราะเมื่อเกิดการขุดค้นขึ้นพบทั้งศาสนาฮินดูและพุทธศาสนา เช่น สถูปสำคัญในพระพุทธศาสนาที่อำเภอยะรัง ที่ได้บูรณะตกแต่งแล้วก็แสดงถึงดินแดนในพระพุทธศาสนา และลังกาสุกะต้องมีอายุประมาณ 1,500 ปีมาแล้ว นับว่าเก่าแก่มาก แต่พึ่งรู้จักกันจริงไม่กี่ปีมานี้

การเข้ามาของศาสนาอิสลาม

กล่าวคือ ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 10 (ประมาณ พ.ศ. 1500 เศษ) ศาสนาอิสลามได้เผยแพร่เข้าสู่ปัตตานีและปาหัง ก่อนที่จะเข้าสู่มาละกา ในช่วงนั้นกษัตริย์หรือสุลต่านเมืองปัตตานีล้มป่วย ไม่มีหมอในปัตตานีรักษาได้ เกิดการตีฆ้องร้องป่าวหาผู้รักษามีแขกปาซายจากสุมาตราชื่อเช็กสะอิ หรือ เช็กซาฟียิดดิน ได้ขันอาสามารักษาสุลต่านแต่ขอคำมั่นสัญญาว่าถ้ารักษาหายแล้ว พระองค์จะต้องเข้ารีดนับถือศาสนาอิสลาม เมื่อได้รักษาจนหายแต่เมื่อหายแล้วสุลต่านไม่ยอมเปลี่ยนศาสนาเลยป่วยหนักอีก กลับมารักษากันใหม่ขอคำสัญญากันอีกกลับไปกลับมาเช่นนี้ถึง 3 ครั้ง สุลต่านเลยต้องยอมเปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาอิสลามหมอผู้รักษาได้รับการแต่งตั้งเป็น ดาโต๊ะ สะรี ยารา ฟาเก้าฮ์ (ผู้รู้ทางศาสนายอดเยี่ยม)เมื่อเจ้าเมืองเปลี่ยนศาสนาใหม่ โอรส ธิดา ขุนนาง และชาวเมืองก็เริ่มเปลี่ยนศาสนาตามเป็นศาสนาอิสลามต่อจากนั้นก็เริ่มมีการทำลาย พระพุทธรูป พุทธสถาน เทวรูป และเทวาลัย อาณาจักรที่เคยนับถือพระพุทธศาสนาอยู่หลายปีจึงมีโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาน้อยเต็มที หรือแทบจะไม่มีเลย ก็มีพบบ้างกันที่ยะรังเมืองโบราณ

ราชทูตลังกาสุกะ

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์จีนที่จตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง มีภาพปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุราชวงศ์เหลียง หรือเหลียงชู ของจีน (พ.ศ. 1045-พ.ศ. 1106) บุคคลในภาพชื่อ อชิตะ (จีนออกเสียงเป็น อาเซ่อตัว) เป็นราชทูตจากประเทศลังกาสุกะ (จีนออกเสียงเป็น หลังหยาสิ้ว บางแหล่งเรียก หลาง หย่า ซุ่ย) มีคำบรรยายภาพว่า "เป็นคนหัวหยิกหยอง น่ากลัว นุ่งผ้า โจงกระเบน ห่มสไบเฉียง สวมกำไลที่ข้อเท้าทั้งสอง ผิวค่อนข้างดำ" โดยเดินทางไปเยือนราชสำนักจีนในปี พ.ศ. 1058 สมัยพระเจ้าอู่ตี้ฮ่องเต้แห่งราชวงศ์เหลียง ทางการจีนได้เขียนภาพ อาเซ่อตัว ไว้เป็นที่ระลึกพระเจ้าแผ่นดินแห่งลังกาสุกะในเวลานั้น ทรงพระนามว่า ผอเจี่ยต้าตัว หรือ ภัคทัตตเหลียงชู ซึ่งตรงกับรัชสมัย พระเจ้าภัคทัต (ประมาณพ.ศ. 1060)

วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559

อาณาจักรขอม

ขอม

ขอม เป็นชื่อทางวัฒนธรรม ไม่ใช่ชื่อชนชาติ หมายถึงคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา นับถือฮินดูหรือพุทธมหายาน ทางใต้ของแคว้นสุโขทัย อาจจะหมายถึงพวก ละโว้ (หรือ ลพบุรี) เอกสารทางล้านนา เช่น จารึกและตำนานต่างๆ ล้วนระบุสอดคล้องกันว่าขอมคือพวกที่อยู่ทางใต้ของล้านนา(ในสมัยอาณาจักรสุโขทัย) เนื่องจากคำว่า ขอม สัญนิษฐานว่ามาจากคำว่า “เขมร”+”กรอม” (ที่แปลว่าใต้) พูดเร็วๆ กลายเป็น “ขอม” 
พวกนี้ตัดผมเกรียน และนุ่งโจงกระเบน กินข้าวเจ้า ฯลฯ แคว้นละโว้มีชื่อในตำนาน และพงศาวดารว่า กัมโพช เลียนอย่างชื่อ กัมพูชา ของเขมร นับถือทั้งฮินดูและพุทธมหายาน อาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนอธิบายไว้ว่า ขอมเป็นพวกนับถือฮินดูหรือพุทธมหายาน ใครเข้ารีตเป็นฮินดู หรือพุทธมหายาน เป็นได้ชื่อว่า ขอม ทั้งหมด ขอมไม่ใช่ชื่อชนชาติ เพราะไม่มีชนชาติขอม แต่เป็นชื่อทางวัฒนธรรม เช่นเดียวกับ สยาม

ขอม เขมร ขะแมร์

เดิม ขอม ไม่ได้หมายถึงเขมรกลุ่มเดียว เพราะ เขมร นั้น เป็นคำไทย ซึ่ง หมายถึง ขะแมร์ ชาวเขมร ไม่ได้เรียกตัวเองว่า ขอม และไม่รู้จัก ขอม โดยคำว่า เขมร ได้ปรากฏขึ้นอย่างน้อย ๆ เมื่อ พ.ศ. 1069 จากจารึกคำว่า เขมร ในจารึกซับบาก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. 1893 แล้วชื่อ ขอม มีความหมายเปลี่ยนไปเป็นพวกเขมรเท่านั้น สืบมาจนถึงทุกวันนี้ ทำไมชื่อขอม เปลี่ยนความหมายไปเป็นเขมร ? ยังหาคำอธิบายไม่ได้ชัดเจน แต่พอจะจับเค้าว่าเพราะบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานับถือพุทธนิกายเถรวาทหมดแล้ว รวมทั้งละโว้ แต่ทางเขมรยังมีพวกนับถือฮินดูกับพุทธมหายาน คือขอมอยู่บ้าง
คำว่า ขอม ปรากฏในจารึกวัดศรีชุม สุโขทัย 2 แห่ง ระบุชื่อ ขอมสบาดโขลญลำพง จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักวิชาการคนแรก ๆ พยายามศึกษาและอธิบายคำคำนี้ใหม่ ได้เสนอว่า ขอม ไม่ได้หมายถึงชนชาติหรือเชื้อชาติ แต่หมายถึงกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ที่รับวัฒนธรรมฮินดูจากชมพูทวีปแล้วภายหลังเปลี่ยนเป็นพุทธมหายาน (ต่างกับชนชาติไทย-ลาวที่นับถือผีก่อนเปลี่ยนมารับพุทธเถรวาทจากชมพูทวีป) ใช้อักษรขอมในการจดจารึก ซึ่งคนกลุ่มนี้รวมถึงชนชาติเขมรและรัฐเครือญาติทั้งหมด รวมทั้งละโว้ ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นอโยธยาศรีรามเทพนครด้วย คำว่า "ขอม" ถูกใช้เรียกกลุ่มคนโดยรวม คล้ายกับการใช้คำว่า "แขก" เรียกคนอิสลาม/ซิกข์/ฮินดูโดยรวม โดยไม่แยกว่าเป็นคนอินเดีย มลายู ชวา หรือตะวันออกกลาง จิตร ยังอธิบายว่า คำว่าขอม ถูกนำมาใช้ในงานเขียนสมัยใหม่ (ขณะนั้น)โดยมีความรู้สึกชาตินิยมเป็นพื้นมากกว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เช่นการถือว่าขอมเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เคยแผ่อำนาจมาครอบครองดินแดนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงสุโขทัย มีอำนาจปกครองเหนือชาวไทยโบราณ ต่อมาชาวไทยที่สุโขทัยจึงลุกขึ้นต่อสู้เพื่อให้พ้นจากอำนาจของขอม เพื่อสร้างความรู้สึกชาตินิยมในประเทศไทย
สุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการแห่งสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม ก็เสนอว่า ขอม ในที่นี้น่าจะหมายถึงคนในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ต่อสู้ชิงความเป็นใหญ่กับคนทางเหนือ คำว่าขอม ใช้เรียกคนเมืองละโว้หรือลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองใหญ่เก่าแก่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และต่อมาจึงเรียกรวมไปถึงเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอยุธยา จากนั้นในหลักฐานประวัติศาสตร์ของอยุธยา ได้ใช้คำนี้เรียกคนในดินแดนเขมรแถบเมืองพระนครหรือนครธม ในข้อความที่ว่า "ขอมแปรพักตร์"และในกฎมณเฑียรบาล น่าจะหมายถึงคนในเขมรหรือกัมพูชา โดยสรุป คำว่า ขอม เป็นคำเรียกคน มีความหมายทางวัฒนธรรมและมีความหมายเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา

อาณาจักรละโว้

อาณาจักรละโว้

อาณาจักรละโว้ บ้างเรียก ลวรัฐ หรือ ละโว้โยทิยา เป็นอาณาจักรโบราณในมณฑลอำนาจแห่งหนึ่งในอดีต ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของลุ่มน้ำเจ้าพระยา สถาปนาขึ้นราวปลายยุคทวารวดี แรกเริ่มมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่ลวปุระ (ปัจจุบันคือเมืองลพบุรี) ต่อมาย้ายไปที่อโยธยา (ปัจจุบันคือเมืองอโยธยา) ซึ่งต่อมาได้ถูกสถาปนาเป็นอาณาจักรอยุธยา

ประวัติ

อ้างอิงตามพงศาวดารเหนือ อาณาจักรละโว้ก่อตั้งโดยพระยากาฬวรรณดิศ บุตรของพระยากากพัตร และในปีเดียวกันพระยากาฬวรรณดิศได้ตั้งจุลศักราช เป็นศักราชประจำอาณาจักรของพระองค์ด้วย จึงสันนิษฐานได้ว่า อาณาจักรละโว้ น่าจะสถาปนาในปี พ.ศ. 1181 (ค.ศ. 638)
เมืองละโว้ได้รับคติทางศาสนาพราหมณ์จากราชอาณาจักรขอมกัมพูชา  และพุทธศาสนาแบบมหายานที่ขึ้นมาจากทางทิศใต้ ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 คติความเชื่อทั้งสองนั้นเข้ากันได้และส่งเสริมการปกครองบ้านเมืองที่รวมกันเป็นราชอาณาจักรใหญ่ ดังนั้น เมืองละโว้จึงเป็นเมืองที่มีเครือข่ายความสัมพันธ์ไปถึงบ้านเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งลุ่มแม่น้ำมูล คือเมืองพิมาย ในจังหวัดนครราชสีมา เมืองพนมรุ้ง ในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ ไปจนถึงเมืองพระนครหลวง ในกัมพูชา ซึ่งทั้งเมืองพิมายและเมืองพนมรุ้งต่างก็มีศิลาจารึกที่แสดงอำนาจความเป็นอิสระของการเป็นเมืองหลวงปกครองดินแดนในละแวกใกล้เคียงในระดับหนึ่งด้วย ส่วนเมืองละโว้นั้น ในช่วงเวลานี้มีเอกสารประเภทตำนานที่แสดงถึงการแตกแยก ที่ทำให้เมืองหริภุญไชยซึ่งแยกออกไปปกครองตนเองโดยอิสระ เป็นอีกอาณาจักรหนึ่ง
ในระยะเวลาต่อมา เมืองละโว้มีบทบาทก่อให้เกิดเมืองหลวงขึ้นในประวัติศาสตร์ไทยอีกเมืองหนึ่ง คือ เมืองสุโขทัย ที่ขึ้นไปจัดตั้งไว้ที่ตอนบนของที่ราบฝั่งแม่น้ำยม เมื่อประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 18 แต่หลังจากนั้นไม่นาน สุโขทัยก็แยกตัวออกเป็นอิสระอีกแว่นแคว้นหนึ่งเช่นเดียวกับเมืองหริภุญไชย เรื่องราวในศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 2 วัดศรีชุม เรื่องพ่อขุนผาเมือง และพ่อขุนบางกลางหาวรบกับขอมสบาดโขลญลำพง อาจเป็นเรื่องราวตอนที่สุโขทัยแยกตัวออกจากเมืองละโว้ก็ได้ ส่วนเมืองละโว้นั้น ก็ได้มีการขยับขยายราชธานีลงทางใต้ ตั้งบ้านเมืองในบริเวณที่แม่น้ำ 3 สายคือ แม่น้ำป่าสักแม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลมาบรรจบกัน และมีความสัมพันธ์กับกลุ่มเมืองสุพรรณภูมิ ต่อมาก็ได้จัดตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นเมืองหลวงในที่สุด
เมืองสำคัญอีกเมืองหนึ่งที่อาจกล่าวว่าอยู่ในขอบเขตใกล้ทะเลอ่าวไทย คือ เมืองศรีมโหสถแห่งลุ่มน้ำบางปะกงหรือแม่น้ำปราจีนบุรี ปัจจุบันเมืองนี้อยู่ในเขตอำเภอศรีมโหสถ (โคกปีบ) จังหวัดปราจีนบุรี เป็นเมืองที่มีศาสนสถานเป็นจำนวนมาก โบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองนี้อาจสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 10 แต่โบราณสถานที่เป็นของเมืองนี้อย่างแน่นอน และเป็นศาสนสถานของพุทธศาสนาแบบเถรวาทนั้น คือ รอยพระพุทธบาทคู่ที่วัดสระมรกต ซึ่งอยู่นอกเมืองทางทิศใต้ สร้างขึ้นเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 14 เมืองศรีมโหสถเป็นเมืองศูนย์กลางปกครองดินแดนใกล้เคียงสืบต่อกันมา จนถึงพุทธศตวรรษที่ 17 - 18 จึงได้กลายเป็นเมืองในราชอาณาจักรขอมกัมพูชา ซึ่งมีศูนย์กลางที่เมืองพระนครหลวง และมีหลักฐานแสดงการนับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายาน

การแบ่งยุคสมัย

การแบ่งยุคสมัย

การจัดแบ่งยุคทางประวัติศาสตร์ของไทยนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแสดงพระทัศนะไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง "ตำนานหนังสือพระราชพงศาวดาร" ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเมื่อ พ.ศ. 2457 ถึงการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ของไทยไว้ว่า"เรื่องพระราชพงศาวดารสยาม ควรจัดแบ่งเป็น 3 ยุค คือ เมื่อกรุงสุโขทัยเป็นราชธานียุค 1 เมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานียุค 1 เมื่อกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานียุค 1" ซึ่งการลำดับสมัยทางประวัติศาสตร์แบบเส้นตรง (Linear) โดยวางโครงเรื่องผูกกับกำเนิดและการล่มสลายของรัฐ กล่าวคือใช้รัฐหรือราชธานีเป็นศูนย์กลางเช่นนี้ ยังคงมีอิทธิพลอยู่มากต่อการเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยในปัจจุบัน
ในปัจจุบัน มีข้อเสนอใหม่ ๆ เกี่ยวกับโครงเรื่องประวัติศาสตร์ไทยขึ้นมาบ้าง ที่สำคัญคือ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้เสนอถึงหัวข้อสำคัญที่ควรเป็นแกนกลางของประวัติศาสตร์แห่งชาติไทยไว้ 8 หัวข้อ ดังนี้


ประวัติศาสตร์ไทย

ประวัติศาสตร์ไทย

การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยมักเริ่มนับตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยเป็นต้นมา หากแต่ในอาณาเขตประเทศไทยปัจจุบัน พบหลักฐานของมนุษย์ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดถึงห้าแสนปี ตลอดจนหลักฐานของอารยธรรมและรัฐโบราณเป็นจำนวนมาก
ภูมิภาคสุวรรณภูมิเคยถูกชาวมอญ เขมรและมาเลย์ปกครองมาก่อน ต่อมา คนไทยได้สถาปนาอาณาจักรของตนเอง เช่น อาณาจักรสุโขทัย ไล่เลี่ยกันกับอาณาจักรล้านนา อาณาจักรเชียงแสน และอาณาจักรอยุธยา อาณาจักรสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองในช่วงเวลาค่อนข้างสั้นประมาณ 200 ปี ก็ถูกผนวกรวมกับอาณาจักรอยุธยา
อาณาจักรอยุธยาเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองมั่งคั่ง เป็นศูนย์กลางการค้าระดับนานาชาติ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงปฏิรูปการปกครอง ซึ่งบางส่วนใช้สืบมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังทรงตราพระราชกำหนดศักดินา ทำให้อยุธยาเป็นสังคมศักดินา อยุธยาเริ่มติดต่อกับชาติตะวันตกเมื่อ พ.ศ. 2054 หลังโปรตุเกสยึดครองมะละกา หลังจากนั้นใน พ.ศ. 2112 กรุงศรีอยุธยาตกเป็นประเทศราชของราชวงศ์ตองอูแห่งพม่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพในอีก 15 ปีให้หลัง อาณาจักรอยุธยาเจริญถึงขีดสุดหลังจากนั้น ทั้งความสัมพันธ์กับต่างประเทศก็รุ่งเรืองมากในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อาณาจักรอยุธยาเริ่มเสื่อมลง จนล่มสลายลงอย่างสิ้นเชิงใน พ.ศ. 2310
พระยาตากได้รวบรวมไพร่พลกอบกู้เอกราช และย้ายราชธานีมายังกรุงธนบุรี รัชสมัยของพระองค์ถือเป็นช่วงเวลาของการทำสงครามและการฟื้นฟูความเจริญของชาติ อาณาจักรธนบุรีมีพระมหากษัตริย์ปกครองพระองค์เดียว กินระยะเวลาเพียง 15 ปี แล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 กรุงรัตนโกสินทร์ยังเผชิญกับภัยคุกคามจากประเทศเพื่อนบ้าน กระทั่งรัชกาลที่ 4
การลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริง ทำให้ชาติตะวันตกหลายชาติเข้ามาทำสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมอีกหลายฉบับ ต่อมา แม้จะมีการยกดินแดนให้ฝรั่งเศสและอังกฤษหลายครั้ง แต่สยามไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก กุศโลบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้ไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร อันทำให้สยามได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และนำมาซึ่งการแก้ไขสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมทั้งหลาย
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย ทำให้คณะราษฎรเข้ามามีบทบาทในทางการเมือง ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยได้ลงนามเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่น แต่ในช่วงสงครามเย็น ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา มีนโยบายต่อต้านการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค
หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยยังถือได้ว่าอยู่ในระบอบเผด็จการในทางปฏิบัติอยู่หลายทศวรรษ ประเทศไทยประสบกับความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และมีการสืบทอดอำนาจรัฐบาลทหารผ่านรัฐประหารหลายสิบครั้ง อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นได้มีเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ประชาธิปไตยในประเทศเริ่มมีความมั่นคงยิ่งขึ้น