วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 1 หรือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงธรรม หรือ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงธรรมอันมหาประเสริฐเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 21 แห่งกรุงศรีอยุธยา และเป็นพระองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์สุโขทัย
หลังจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สำเร็จโทษพระมหากษัตริย์องค์ก่อนแล้ว พระศรีศิลป์หรือพระพิมลธรรม หรือพระเจ้าทรงธรรมก็เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติ

พระราชประวัติ

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีพระนามเดิมว่าพระอินทราชา (แต่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่าพระนามเดิมคือพระศรีสิน) เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเอกาทศรถกับพระสนมชาวบางปะอิน มีพระนามเดิมว่า พระศรีศิลป์ เดิมบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดระฆัง มีความรอบรู้ทางด้านพระไตรปิฎกมาก จนได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรมอนันตปรีชา มีผู้ที่นิยมท่านมาก รวมทั้งจหมื่นศรีสรรักษ์ยังได้ฝากตัวเป็นบุตรบุญธรรมของท่านด้วย
ในแผ่นดินของพระศรีเสาวภาคย์ จหมื่นศรีสรรักษ์และบรรดาลูกศิษย์ของท่านได้ซ่องสุมกันที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ แล้วจึงบุกเข้าไปยังพระราชวังหลวงและจับพระศรีเสาวภาคย์นำไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ แล้วอัญเชิญพระพิมลธรรมอนันตปรีชาให้ลาสิกขาบท ขึ้นเสวยราชสมบัติแห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อปีขาล จุลศักราช 973 (พ.ศ. 2154) ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และทรงแต่งตั้งจหมื่นศรีสรรักษ์เป็นพระมหาอุปราช
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีพระราชโอรส 3 พระองค์ ได้แก่ พระเชษฐากุมาร พระพันปีศรีศิลป์ และพระอาทิตยวงศ์ ส่วนจดหมายเหตุวันวลิตระบุว่า พระองค์มีพระราชโอรส 9 พระองค์ พระราชธิดา 8 พระองค์
ตอนปลายรัชสมัยของพระองค์ ขณะที่พระองค์ประชวรหนัก มีพระราชประสงค์จะมอบราชสมบัติให้พระราชโอรสองค์ใหญ่ คือ พระเชษฐาธิราชกุมาร โดยทรงมอบให้ออกญาศรีวรวงศ์ จางวางมหาดเล็ก ซึ่งเป็นพระญาติที่ไว้วางพระทัยเป็นผู้ดูแลพระเชษฐาธิราชจนกว่าจะได้ครองราชย์ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมครองราย์ได้ 17 ปี จึงเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2171 ซึ่งเป็นวันที่ชาวฮอลันดาได้บันทึกไว้

พระราชกรณียกิจ


ด้านพระพุทธศาสนา

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงเป็นนักปราชญ์ รอบรู้ในวิชาการหลายด้าน มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงประพฤติราชธรรมอย่างมั่นคง เป็นที่รักใคร่นับถือของบรรดาราษฎรและชาวต่างชาติ พระกรณียกิจส่วนใหญ่ของพระองค์ มุ่งส่งเสริมทำนุบำรุงศาสนาพุทธในด้านต่าง ๆ เช่น โปรดเกล้าฯ ให้คัดลอกพระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับสมบูรณ์เป็นจำนวนมาก ทรงให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งมหาชาติคำหลวงถวาย นับเป็นวรรณคดีชิ้นสำคัญของสมัยอยุธยา ได้มีผู้พบรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสุวรรณบรรพต แขวงเมืองสระบุรี พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างมณฑปครอบรอบพระพุทธบาท พร้อมทั้งสร้างพระอุโบสถ พระวิหารการเปรียญ กับกุฏิสงฆ์ ถวายให้เป็นสมบัติในพระพุทธศาสนา พระพุทธบาทสระบุรีจึงมีความสำคัญ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของพุทธศาสนิกชนตั้งแต่นั้นมาตราบถึงปัจจุบัน

ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

พระองค์ทรงมีสัมพันธ์ไมตรีกับบรรดาต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทย ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองท่าที่สำคัญในภูมิภาคแถบนี้ของโลก ชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะฮอลันดา อังกฤษและญี่ปุ่น ที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ พระองค์ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ริมคลองปลากด เหนือเมืองสมุทรปราการ ให้ชาวฮอลันดาตั้งคลังสินค้า และในปี พ.ศ. 2115 พระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ได้มีพระราชสาส์นทูลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พ่อค้าชาวอังกฤษเข้ามาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยาได้สะดวก ส่วนชาวญี่ปุ่น ปรากฏว่ามีชาวญี่ปุ่นสมัครเข้ารับราชการที่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก จนได้มีการจัดตั้งกรมอาสาญี่ปุ่น ขึ้นมาช่วยราชการกรุงศรีอยุธยา ชาวญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญในวงการเมืองในรัชสมัยของพระองค์ คือ ยะมะดะ นะงะมะซะ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นออกญาเสนาภิมุข

ด้านราชการสงคราม

เนื่องจากพระองค์ไม่นิยมการทำสงคราม ด้วยเหตุนี้กรุงศรีอยุธยาจึงต้องเสียเมืองทวาย อันเป็นเมืองท่าที่สำคัญทางตะวันตกในทะเลอันดามัน พม่ายกกำลังมาตีเมืองทวายได้เมื่อปี พ.ศ. 2165 ต่อมากัมพูชาและแคว้นเชียงใหม่ซึ่งเคยเป็นประเทศราชมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรต่างก็พากันแข็งเมืองไม่ยอมขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น